ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คาราบาว

ประวัติคาราบาว


“คาราบาว” วงดนตรีเพื่อชีวิต ที่เริ่มต้นด้วย นายยืนยง โอภากุล กับ นายกิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่ไปเจอกันที่ในระหว่างที่ได้ไปเล่าเรียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งบุคคลทั้งสองร่วมกันก่อตั้งวงดนตรีชื่อ “คาราบาว” คำว่า คาราบาว เป็นภาษาตากาล๊อก ของประเทศฟิลิปปินส์ แปลว่า “ควาย” ซึ่งนายยืนยง โอภากุล ได้นำหัวควายนี้มาเป็นสัญญลักษณ์ของวงคาราบาว ซึ่งมันแทนการต่อสู้ อดทน และควายยังเป็นตัวแทนผู้ใช้แรงงาน ในประเทศฟิลิปนส์อีกด้วย


หลังจากสำเร็จการศึกษา นายกิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้เป็นพนักงานฝ่ายประเมินราคาเครื่องจักรในบริษัทฟิลิปปินส์ ยาวนานถึง 6 ปี ส่วนนายยืนยง โอภากุล ก็ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อเริ่มงานเป็นสถาปนิกที่การเคหะแห่งชาติ พร้อมกับตระเวนเล่นดนตรีในเวลากลางคืนไปด้วย เมื่อทุกอย่างลงตัว นายยืนยง โอภากุล ก็ได้ลาออกจากงานประจำ มาเอาดีทางด้านดนตรี พร้อมชักชวนให้ นายกิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ที่กำลังทำงานในบริษัทฟิลิปส์ที่ตั้งอยู่สาขาในประเทศไทย ลาออกมาด้วยเช่นกัน เพื่อทำงานด้านดนตรีอย่างเต็มตัว

งานชิ้นแรกของ “คาราบาว” เริ่มขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2524 ใช้ชื่อชุดว่า “ขี้เมา” โดยมีแอ๊ด และเขียวเป็นแกนนำ หลังจากนั้นนายยืนยง โอภากุล ได้ชักชวน นายปรีชา ชนะภัย หรือ เล็ก ที่เป็นเพื่อนสมัยเรียนด้วยกันที่อุเทนถวาย เข้ามาร่วมวงคาราบาว ซึ่งในขณะนั้น เล็ก ได้เป็นนักดนตรีอาชีพอยู่กับวงเพรสซิเด้นส์ และเพลงแรกที่แอ๊ดได้แต่งไว้ก็คือ ถึกควายทุย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ถึกควายทุยมีไปทุกอัลบั้มของคาราบาว

งานชิ้นที่สอง ปี พ.ศ. 2525 “แป๊ะขายขวด” ได้เล็กเข้ามาร่วมงาน อัลบั้มนี้ ได้บริษัทพีค๊อกเป็นผู้ผลิต ซึ่งได้ทำเทปออกมา 20,000 ม้วน แต่ขณะนั้นทั้งสองอัลบั้มยังถือว่าไม่สบความสำเร็จ

ด้วยความมุ่งมั่นของแอ๊ด ทำให้แต่งเพลงในสไตล์ที่เมืองไทยยังไม่มี ณ ขณะนั้น ในชื่อเพลงวณิพก ซึ่งเป็นดนตรีทำนองสามช่าคึกคักแตกต่างไปกับเพลงไทยในสมัยนั้น และผลงานชิ้นที่สาม ในปี พ.ศ. 2526 ได้ใช้ชื่อว่า “วณิพก” และด้วยเพลงวณิพกนี่เอง ทำให้คาราบาว เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วทั้งประเทศ และอัลบั้มได้มือเบส ที่ชื่อว่า ไพรัช เพิ่มฉลาด เข้ามาร่วมวงคาราบาว

หลังจากนั้นเมื่อไม่กี่เดือน คาราบาวได้ออกอัลบั้มที่ 4 มาอีก ใช้ชื่อว่า “ท.ทหารอดทน” ซึ่งอัลบั้มแรกที่คาราบาวโดนแบนเพลง และเป็นอั้ลบั้มที่ได้นำสถานการณ์ทุกในแต่ละยุคมาขีดเขียนให้เป็นเพลง อาทิเช่น เพลงทินเนอร์ เป็นต้น และอัลบั้มนี้ได้สมาชิกจากห้องอัดอโซน่าเข้ามาร่วมวงงานกับคาราบาวเพิ่ม คือ เทียรี่ เมฆวัฒนา, ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี และอำนาจลูกจันทร์

ปี พ.ศ. 2527 อัลบั้มชุดประวัติศาสตร์ “เมดอินไทยแลนด์” เป็นอัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้กับคาราบาวมากที่สุด เพราะประจวบเหมาะกับการลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในสมัยนั้น แล้วรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้สินค้าของไทย ทำให้เมดอินไทยแลนด์เป็นอัลบั้มที่ทะลุเป้า ยอดขายกว่า 3 ล้านตลับ พร้อมกับทัวร์คอนเสิร์ตในรูปแบบที่แสดงถึงศักยภาพทางด้านดนตรีในแต่ละบุคคล ซึ่งได้ทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศและไปต่างประเทศอีกด้วย และอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์นี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคาราบาว ซึ่งมือเบสจากวงเพรสซิเด้นท์ที่เป็นเพื่อนกับเล็ก ที่มีสัญญาใจกันไว้ในอดีต เข้ามาร่วมกับคาราบาว บุคคลผู้นั้นคือ อนุพงษ์ ประถมปัทมะ และบุคคลที่ต้องออกจากวงคาราบาวไปก็คือ นายไพรัช เพิ่มฉลาด

ซึ่งนับได้ว่าอัลบั้มชุดเมดอินไทยแลนด์เป็นยุคที่มีสมาชิกครบทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วย



1. นายยืนยง โอภากุล
2. นายกิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร
3. นายปรีชา ชนะภัย
4. นายเทียรี่ เมฆวัฒนา
5. นายธนิศร์ ศรีกลิ่นดี
6. นายอำนาจ ลูกจันทร์
7. นายอนุพงษ์ ประถมปัทมะ

ต่อมาใน ปี พ.ศ.2528 คาราบาวได้ผลิตผลงานชุดที่ 6 ชื่อชุด “อเมริโกย” ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ คาราบาวได้ใช้ห้องบันทึกเสียง เซ็นเตอร์สเตจ ซึ่งเป็นห้องอัดเสียงของวงคาราบาว ใช้ในการบันทึกเสียงทั้งหมด และชุดนี้คาราบาวได้นำเหตุการณ์และความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ ณ ขณะนั้น อย่างปัญหาชาวนาและการประกันราคาข้าว หรือที่ทางอเมริกาจำกัดโควต้าการนำเข้าสิ่งทอไทย มาเขียนเป็นเพลงและขับขานให้ประชาชนได้ฟัง



ในปี พ.ศ. 2529 อัลบั้มชุดที่ 7 “ประชาธิปไตย” เป็นอัลบั้มที่โดนแบนเพลงทั้งหมด 3 เพลง ผลงานเพลงชุดนี้ก็ยังคงเกาะติดสถานการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตย และได้เขียนเพลงให้กับผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ณ สมัยนั้น คือ มหาจำลองรุ่น 7 ให้กับพลตรีจำลอง ศรีเมือง

ในปี พ.ศ. 2530 อัลบั้มชุดที่ 8 “เวลคัมทูไทยแลนด์” หรือเวรกรรมสู่ไทยแลนด์ ต้อนรับเทศกาลท่องเที่ยวไทย เป็นอัลบั้มที่เกาะกระแสปีการท่องเที่ยวไทย ที่จะชักชวนชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2531 อัลบั้มชุดที่ 9 “ทับหลัง” ในช่วงนั้นเป็นช่วงการทวงทับหลังนารายณ์บรรทมศีลที่ไปตกอยู่ในมือของต่างชาติ และทางรัฐบาลไทยได้ทำการเรียกร้องขอคืน ซึ่งหลังจากนั้นทางประเทศไทยได้ทับหลังคืนมา และอัลบั้มนี่เองเป็นอัลบั้มสุดท้ายของ 7 คนคาราบาว มันมีเรื่องราวมากมายที่จำเป็นต้องแยกตัวกันออกไปจากคาราบาว


ในปี พ.ศ. 2533 อัลบั้มชุดที่ 10 “ห้ามจอดควาย” เหลือสมาชิกในวงเพียง 4 คน ประกอบไปด้วย แอ๊ด เขียว เล็ก และอ๊อด ที่ยังคงเป็นแกนนำของคาราบาวในอัลบั้มชุดนี้ ซึ่งได้นักดนตรีจากวงตาวันเข้ามาช่วย ทำให้อัลบั้มชุดห้ามจอดควายนี้ มีสีสันทางด้านดนตรีแตกต่างไปจากชุดเดิม และอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มสุดท้าย ของเพลงถึกควายทุย



หลังจากอัลบั้มชุดที่ 10 ห้ามจอดควาย ทำให้สมาชิกของคาราบาวเริ่มไปทำงานเดี่ยวของตัวเอง ไปค้นหาตัวเอง ไปสร้างสรรค์ผลงานให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น เขียว กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร, เล็ก ปรีชา ชนะภัย, รี่ เทียรี่ เมฆวัฒนา, อาจารย์ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี แต่จะมีแอ๊ดที่เป็นหัวเรือหลักที่นำพาคาราบาวสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ทุกๆ ปี

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับสมาชิกคาราบาวในการออกไปทำเดี่ยวของแต่ละคนนั้น เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าการถึงจุดอิ่มตัวของการอยู่ด้วยกันมานานของทั้ง 7 คน แต่ความขัดแย้งเหล่านี้เป็นในส่วนของการทำงานเท่านั้น นอกนั้นสมาชิกทุกคนยังมีการไปมาหาสู่และช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอด

ในปี พ.ศ. 2534 คาราบาวได้ออกอัลบั้มที่ 11 วิชาแพะ โดยเหลือแกนนำเพียง 3 คนเท่านั้นคือ แอ๊ด เล็ก และอ๊อด และได้สมาชิกใหม่เข้ามาช่วยคาราบาว อาทิเช่น ดุก ลือชัย งามสม (ดุก), ชูชาติ หนูด้วง (โก้), ขจรสักดิ์ หุตะวัฒนะ (หมี), ศยาพร สิงห์ทอง (น้อง)

ในปี พ.ศ. 2535 อัลบั้มที่ 12 “สัจจะ 10 ประการ” คาราบาวได้เป็นวงที่ทางรัฐบาลว่าจ้างให้เล่นคอนเสิร์ตเรื่องประหยัดน้ำ เพราะสถานการณ์ช่วงนั้นประเทศไทยขาดแคลนน้ำ

ในปี พ.ศ. 2536 เป็นอัลบั้มที่ 13 “ช้างไห้” เหลือแกนนำคาราบาวเพียง 2 คนเท่านั้นคือ แอ๊ด กับ อ๊อด พร้อมสมาชิกใหม่อีกหลายคน

ในปี พ.ศ. 2537 อัลบั้มที่ 14 “คนสร้างชาติ” คาราบาวได้คุณพยัคฆ์ คำพันธุ์ มาแต่งเพลงหลวงพ่อคูณ ให้กับคาราบาว สร้างความโด่งดังไปทั่วเมือง และแอ๊ดได้แต่งเพลง 20 ปีคาราวานให้กับวงคาราวานในวาระครบรอบ 20 ปีคาราวาน

ในปี พ.ศ. 2538 อัลบั้มที่ 15 “แจกกล้วย” ได้พูดถึงการกระจายอำนาจในเพลง กำนันผู้ใหญ่บ้าน และเพลงที่เสียดสีผู้ที่โกงกินบ้านเมืองกับเพลง ค้างคาวกินกล้วย

อีกไม่กี่เดือนผ่านมาในปี พ.ศ. 2538 คาราบาวทั้ง 7 คน ได้กลับมารวมตัวกันเฉพาะกิจ ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 16 ออกมาจำนวน 2 ชุดด้วยกัน และให้ชื่ออัลบั้มว่า “หากหัวใจยังรักควาย1 และหากหัวใจยังรักควาย 2” 20 เพลงเต็มอิ่มกับการรอคอยคาราบาวกลับมารวมตัวกัน โดยมีเพลงสามช่าคาราบาว เป็นเพลงที่เล่าเรื่องราว 15 ปีของคาราบาวได้เป็นอย่างดี และมีเพลงอื่นๆ ที่เกาะสถานการณ์อย่างเช่น อองซานซูจี เต้าหู้ยี้ รวมถึงบทเพลงที่แสดงถึงประสบการณ์ทางดนตรีอย่างเช่นเพลง ลุงฟาง เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2540 อัลบั้มที่ 17 “เส้นทางสายปลาแดก” เป็นบทเพลงที่ร่วมอนุรักษ์ในรูปแบบของความเป็นไทย เช่น เพลงน้ำพริกแกงป่า เพลงกลองยาว เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2540 ปลายปี อัลบั้มที่ 18 “เช ยังไม่ตาย” แอ๊ด ได้นำบุคคลแห่งการต่อสู้อย่างเช ขึ้นมาเป็นบทเพลงที่สะท้อนให้คนในสังคมไทยได้มองเห็นถึงการต่อสู้ พร้อมด้วยเพลงอองซานซูจี ภาคภาษาอังกฤษที่แอ๊ดได้ร้องไว้ และขาดไม่ได้ในยุคสมัยนั้นเพลงฮาเล่ย์เดวิทสัน ที่คาราบาวและพรรคพวกที่ชอบช๊อปเปอร์ทั่วประเทศ

ในปี พ.ศ. 2541 อัลบั้มชุดที่ 19 “อเมริกันอันฑพาล” เป็นการกลับมาร่วมงานกับคาราบาวอีกครั้งของ เล็ก คาราบาว และเทียรี่ เมฆวัฒนา มีเพลงอเมริกันอันฑพาล เป็นบทเพลงที่เหน็บแนมอเมริกันที่ออกกลอุบายให้ IMF ให้ปล่อยให้ประเทศไทยกู้เงิน แล้วเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ณ ขณะนั้น และเล็กได้กลับมาร้องเพลง ไอ้หนู ส่วนเทียรี่ร้องเพลงรักนี้มีแต่เธอ ได้ประทับใจ

ในปี พ.ศ. 2541 ปลายปี อัลบั้มชุดที่ 20 “พออยู่พอกิน” เป็นกระแสที่ได้รับพระบรมชาโอวาทจากในหลวงให้ใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งหาฟังได้จากเพลงพออยู่พอกิน

ในปี พ.ศ. 2543 อัลบั้มชุดที่ 21 “เซียมหล่อตือ” มีเพลงอย่าง บางรันจันวันเพ็ญ ที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วประเทศ

ในปี พ.ศ. 2544 อัลบั้มชุดที่ 22 “สาวเบียร์ช้าง” อัลบั้มชุดนี้เป็นการประชดประชันรัฐบาลที่มีนโยบายให้ปิดสถานบริการในเวลาที่กำหนด ทำให้คนทำงานกลางคืนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ซึ่งหาฟังได้ในเพลง “ปุรชัยเคอร์ฟิว” พร้อมกับบทเพลงที่กล่าวถึงเหตุกาณ์ตึกถล่มที่เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ ในเพลง “เดือน 9 เช้า 11”

ในปี พ.ศ. 2545 อัลบั้มชุดที่ 23 “นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” อัลบั้มนี้ออกมาพร้อมกับธุรกิจใหม่ของนายยืนยง โอภากุล นั่นก็คือ ธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อคาราบาวแดง โดยใช้นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ในแต่ละยุคสมัยมาเป็นจุดขาย ผลงานเพลงชุดนี้นับว่ามีเพลงมากที่สุดตั้งแต่คาราบาวออกอัลบั้มมา มาถึง 13 เพลง มีเพลงดีๆ อย่าง คนล่าฝัน เป็นเพลงที่ฟังแล้วทำให้ผู้ที่จะยอมแพ้ต่อสู้กับชีวิตขึ้นมาได้ และยังมีเพลงนมหด ที่แอ๊ดแต่งต่อว่าพวกชอบเอาเปรียบนักเรียน เอานมบูดมาให้นักเรียนกินกัน และยังมีบทเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องพรางชมพู ที่แอ๊ดได้แต่งเอาไว้เช่น พรางชมพู เรากระทบตุ้ด

ในปี พ.ศ.2546 คาราบาวไม่มีผลงานเพลงชุดใหม่ในปีนี้ แต่คาราบาวได้นำอัลบั้มที่เป็นประวัติศาสตร์ของคาราบาวมาบันทึกเสียงใหม่ทั้งหมด นั่นคือ อัลบั้ม "เมดอินไทยแลนด์" โดยใช้ชื่อว่า "เมดอินไทยแลนด์ ภาค 2546 สังคายนา" เพราะด้วยความตั้งใจของ แอ๊ด คาราบาว ที่ต้องการทำให้อัลบั้มชุดนี้มีความสมบูรณ์ที่สุด ในทุกๆ ด้าน เพื่อคงสภาพงานอัลบั้มคลาสสิคที่สุดของคาราบาวให้ยั่งยืนชั่วกาลนาน ด้วยคุณภาพ และพลัง ที่จัดเจนในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีเพลงพิเศษเพิ่มให้อีกสองเพลง นั่นคือ เพลงเดือนเพ็ญ และทะเลใจ